ข้อเสนอของกรรมการการศาสนศาสตร์ของ กปท เรื่อง G12 ในประเทศไทย

Written by คณะกรรมการศาสนศาสตร์ของกปท on .

บทความข้างล่างนี้ถูกเขียนโดย คณะกรรมการศาสนศาสตร์ของกปท.

 

ศึกษาโดยคณะกรรมการศาสนศาสตร์ของ กปท

เหตุผลที่ทำการศึกษาเรื่องนี้

  • เนื่องจากมีการร้องเรียนว่าคำสอนของ G12 ไม่สอดคล้องกับพระคัมภีร์

แนวทางการศึกษา

  • สัมภาษณ์ผู้นำหลักท่านหนึ่งของ G12 ในประเทศไทย
  • ศึกษาเอกสารที่ได้รับจากผู้นำหลักของ G12 ท่านนั้น ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ได้แปลมาและใช้สอน ซึ่งประกอบไปด้วย Post Encounter, Sol (School of Leadership)  1, 2, 3  
  • ศึกษาเอกสารของเซซาร์ คาสเตยาโนส ดี.โดยตรง
  • บทวิเคราะห์จากบุคคลอื่นในเรื่องนี้

ประเด็นห่วงใย

หลังจากที่กรรมการได้ทำการศึกษาเนื้อหาโดยรวมแล้ว มีประเด็นบางประการเกี่ยวกับคำสอนของ G12 ที่มีผลต่อความเชื่อของคริสเตียนดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 คือที่มาของ G12

คำว่า G  แปลว่าการปกครองซึ่ง ลักษณะการปกครองแบบนี้เป็นการปกครองแบบปิรามิด ซึ่งไม่สอดคล้องกับการปกครองคริสตจักรจำนวนมากในโลกนี้เช่น แบ๊บติสต์ เพรสไบทีเรียน และคริสตจักรอิสระ

จากที่กรรมการได้สัมภาษณ์ผู้นำหลักของ G12 ท่านนั้น เพื่อขอความคิดเห็นว่า เลข 12 นี้มีความสำคัญหรือไม่อย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่มีความสำคัญอะไร แต่ในคู่มือการสอน G12 นั้นได้ให้ความสำคัญกับเลข 12 ดังตัวอย่างในหน้า 114 ของ Sol 2 ผู้เขียนได้อ้าง 1 พกษ. 18:31ว่า  “เอลียาห์นำศิลาสิบสองก้อนมาตามจำนวนเผ่าของบุตรชายของยาโคบ ผู้ซึ่งพระวจนะของพระเจ้ามาถึงว่า อิสราเอลจะเป็นชื่อของเจ้า’– การปกครองในระบบ 12: ศิลา 12 ก้อนเป็นตัวแทนของผู้นำ 12 คนในพระราชกิจของพระเจ้า ซึ่งจะเป็นผู้แบกรับน้ำหนักของงานรับใช้ไว้ (ดูหน้า122ประกอบ)

 

ผู้เขียนคู่มือยังแนะนำว่า “ต้องสวมเสื้อผ้าอาภรณ์งาม (อิสยาห์ 52:1) เราต้องเลือกขนาดเสื้อผ้าแห่งการรับใช้ของเรา

  • ขนาด 12: เมื่อเราสร้างทีม G12 หรือกลุ่ม 12 คนของเราได้ และพระเจ้าทรงประทานชัยชนะแก่เรา
  • ขนาด 144: เมื่อเราได้ช่วยทีมสาวก 12 คนของเราให้สามารถสร้างทีม G12 ของพวกเขาแต่ละคนได้
  • ขนาด 1,728: เมื่อเราได้เห็นการทวีคูณไปสู่คนรุ่นที่ 3
  • ขนาด 20,736: นี่เป็นผลจากการมีเครือข่าย ตาข่ายจับปลาหรืออวนทำมาจากเงื่อนเชือกหลายๆ เงื่อนที่ถักทอเข้าด้วยกันเป็นรูป

สี่เหลี่ยมจัตุรัสหลายๆ อัน ซึ่งได้แก่กลุ่มเซลล์ หากแต่ละกลุ่มเซลล์ทำหน้าที่ของตนอย่างดี เราจะได้เห็นจิตวิญญาณมากมายกลับมาสู่อาณาจักรของพระเจ้า โดยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องเอาใจใส่ทุ่มเทกับการทำกลุ่มเซลล์ เป็นการง่ายกว่ามากที่จะทำให้กลุ่มเซลล์มีความเป็นปึกแผ่น เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คนที่คุณได้ฝึกและสร้างขึ้นจะเป็นผู้นำมาซึ่งการทวีคูณ จงสร้างชีวิตแต่ละคนให้เป็นผู้นำคนกลับมาหาพระคริสต์ หากเราเรียนรู้ที่จะมอบหมายกระจายความรับผิดชอบ ภารกิจนี้ก็จะเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้นมาก

นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้ตั้งหัวข้อ บันไดสู่ความสำเร็จ ได้อ้าง1พกษ.18:34  และท่านกล่าวว่า "จงกระทำครั้งที่สอง" และเขาก็กระทำครั้งที่สองและท่านกล่าวว่า "จงกระทำครั้งที่สาม" และเขาก็กระทำครั้งที่สาม  และได้เอาข้อพระคัมภีร์ตอนนี้มาอธิบาย 4 ขั้นตอนที่จำเป็นต้องกระทำเพื่อทำพระราชกิจของพระเจ้าให้สำเร็จ คนจำนวนมากรู้จักขั้นตอนเหล่านี้ในชื่อ บันไดสู่ความสำเร็จซึ่งได้แก่: การนำคนกลับมาหาพระคริสต์, การผนวกคน, การสร้างสาวก, และการส่งคนออกไปรับใช้ (p. 114)

ประเด็นที่ 2 การอ้างเรห์ม่า Rhema

คำว่า เรห์ม่านี้ผู้นำ G12 มักชอบอ้างว่าเป็นถ้อยคำที่ผู้นำได้รับจากพระเจ้าโดยตรง และมักอ้างว่าเป็นสิทธิอำนาจจากพระเจ้าหรือวิธีการของพระเจ้า ซึ่งไม่สอดคล้องกับพระคัมภีร์

ในเอกสาร Sol 2 หน้า 72 ได้บันทึกว่า “ในการทำพระประสงค์ให้สำเร็จ องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงประทานถ้อยคำที่เจาะจงสำหรับชีวิตและงานรับใช้ของแต่ละคน รวมไปถึงถ้อยคำสำหรับคริสตจักรด้วย เรห์ม่าหรือถ้อยคำเจาะจงนั้นเป็นองค์ประกอบที่จะหนุนใจผู้นำและสาวกของเขา เป้าประสงค์ของเรห์ม่าได้แก่การปกป้องคนของพระเจ้าจากความท้อใจในช่วงระหว่างการดำเนินตามนิมิตกลุ่มเซลล์” (เนหะมีย์ 2:18)

นิยามของคำว่าเรห์ม่าที่อยู่ในเอกสารที่ใช้ในการสอนของ G12 ไม่ชัดเจน แต่สิ่งที่คู่มือเน้นย้ำคือ ผู้นำแต่ละคนจะต้องได้รับเรห์ม่า ดูเหมือนว่าผู้เขียนคู่มือจะให้ความสำคัญเรห์ม่ามากกว่าพระคัมภีร์

เรห์ม่ากับพระคัมภีร์

เรห์ม่ามักถูกคนกลุ่มหนึ่งที่นิยมใช้คำนี้หรือให้ความสำคัญกับคำนี้มากกว่าคำว่าโลกอส โดยแยกคำนี้ออกจากคำว่าโลกอส และพยายามอธิบายว่า เรห์ม่า หมายถึงพระวจนะของพระเจ้าที่เปิดเผยแบบพิเศษ ส่วนโลกอส เป็นพระวจนะของพระเจ้าที่เปิดเผยแบบธรรมดาซึ่งคือพระคัมภีร์นั้นเอง แต่นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าคำทั้งสองเป็นคำที่มีความหมายเหมือนกัน ไม่มีความแตกต่างกันเลย

เมื่อเราพิจารณาการใช้คำว่าเรห์ม่าในพระคัมภีร์ภาษากรีกแล้ว เราจะพบว่า คำนี้ถูกใช้มากถึง 68 ครั้ง บางครั้งหมายถึงพระวจนะของพระเจ้าในความหมายของพระคัมภีร์ (มธ. 4:4) แต่ที่น่าสนใจคือบางครั้งคำนี้ถูกใช้ว่า เป็นคำพูดของมนุษย์ที่พระเจ้าจะนำมาพิพากษาในวันพิพากษา เช่น “ส่วน​เรา​บอก​พวกท่าน​ว่า คำ(เรห์ม่า)​ที่​ไม่​เป็น​สาระ​ทุก​คำ​ซึ่ง​มนุษย์​พูด​นั้น  มนุษย์​จะ​ต้อง​รับผิดชอบ​ถ้อยคำ​เหล่านั้น​ใน​วัน​พิพากษา”  (มธ. 12:36) บางครั้งก็หมายถึงคำตรัสของพระเยซู หรือถ้อยคำของพระองค์ แต่ไม่ได้เป็นคำตรัสกับบุคคลใดเป็นพิเศษ (มก. 9:32 ดู ลก. 2:50)  นอกจากนี้คำว่าเรห์ม่านี้ยังสามารถแปลว่า “เรื่องราว” หรือ “สิ่ง” เช่น “เพราะว่า​ไม่มี​สิ่งหนึ่ง​สิ่งใด​(เรห์ม่า)ที่​พระเจ้า​ทรง​ทำ​ไม่ได้” (ลก. 1:37; ดู ลก. 2:19)  นอกจากนี้คำว่าเรห์ม่ายังสามารถหมายถึงคำพูดของทูตสวรรค์ (ลก. 1:38)

สิ่งที่น่าสนใจคือคำว่าเรห์ม่านี้ ถึงแม้จะอยู่ในบริบทเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องมีความหมายเดียวกัน เช่น ลูกา 2:50-51 “แต่​บิดา​มารดา​ไม่​เข้าใจ​คำ(เรห์ม่า)​ที่​พระเยซู​กล่าว​กับ​เขา​ทั้งสอง แล้ว​พระกุมาร​ก็​ลงไป​กับ​บิดา​มารดา ยัง​เมือง​นาซาเร็ธ และ​ยอม​เชื่อฟัง​เขา​ทั้งสอง ส่วน​มารดา​เก็บ​เรื่องราว​(เรห์ม่า)ทั้งหมด​นั้น​ไว้​ใน​ใจ” จากข้อความตอนนี้เราจะเห็นว่า เรห์ม่าสามารถแปลว่า “คำ” ในข้อหนึ่ง และสามารถแปลว่า “เรื่องราว” ในอีกข้อหนึ่ง

ประเด็นที่ 3 คือวิธีการใช้พระคัมภีร์

ผู้เขียนคู่มือของ  G12 อ้างอิงพระคัมภีร์อย่างไม่สอดคล้องกับบริบทของพระคัมภีร์เช่น ในบทที่ 5 ในหัวข้อความสำคัญของการบัพติศมา ในหัวข้อย่อยว่า  "พระเยซูเป็นแบบอย่างแก่เรา"  โดยอ้างข้อความจากพระคัมภีร์  "บัดนี้จงยอมเถิดเพราะสมควรที่เราทั้งหลายจะกระทำตามสิ่งชอบธรรมทุกประการ"  ผู้เขียนได้อ้างพระคัมภีร์ตอนนี้ด้วยคำสรุปง่ายๆ ว่า “ด้วยถ้อยคำนี้ พระเยซูทรงกำหนดแนวการปฏิบัติว่า การบัพติศมาในน้ำเป็นพื้นฐานที่สำคัญของความชอบธรรมของพระเจ้า”(หน้า 53)

อีกตัวอย่างอยู่ในบทที่  8 ซึ่งอยู่ในส่วนของ Post Encounter  โดยตีความว่าเป็นการแบ่งแยกระหว่างมนุษย์ที่อยู่ฝ่ายเนื้อหนังและฝ่ายวิญญาณโดยมีการอ้างปฐก. 25:23"ชนสองชาติอยู่ในครรภ์ของเจ้า และประชาชนสองพวกเกิดจากเจ้าจะต้องแยกกัน พวกหนึ่งจะแข็งแรงกว่าอีกพวกหนึ่ง พี่จะรับใช้น้อง" (หน้า 79) ในพระธรรมตอนนี้แท้ที่จริงกำลังพูดถึงบุตรในครรภ์ที่เป็นฝาแฝด ไม่ได้พูดถึงมนุษย์ฝ่ายวิญญาณเปรียบเทียบกับมนุษย์ฝ่ายเนื้อหนัง

ประเด็นที่ 4 คือ ข่าวประเสริฐแห่งความเจริญรุ่งเรือง

ในหน้า 17 ของ Sol 2 ผู้เขียนได้กล่าวว่า  “นิมิตนี้ก็จะนํามาซึ่งพระพรแห่งความมั่งคั่งมาสู่ผู้เชื่อที่ตัดสินใจเปิดบ้านของเขาเพื่อเป็นเจ้าภาพรองรับกลุ่มเซลด้วย” การสอนเช่นนี้เป็นการชี้นำว่า การที่คนหนึ่งคนใดจะมั่งคั่งขึ้นได้ด้วยการเปิดบ้านให้เป็นที่ประชุมกลุ่มเซล

ในหน้า 44 ของ Sol 2 ได้บันทึกว่า “นิมิตกลุ่มเซลล์เป็นสิ่งรับประกันความสําเร็จในเรื่องการเจริญเติบโตแบบทวีคูณของคริสตจักร” การรับประกันความสำเร็จนี้เป็นการให้ความหวังที่เกินความเป็นจริง

การอ้าง ยอห์น “ท่าน​ที่​รัก ข้าพ​เจ้า​อธิษ​ฐาน​ขอ​ให้​ท่าน​มี​สุข​ภาพ​แข็ง​แรง และ​มี​ความ​สุข​ความ​เจริญ​ทุก​อย่าง ดัง​ที่​จิต​วิญ​ญาณ​ของ​ท่าน​กำ​ลัง​เจริญ​อยู่​นั้น”  ซึ่งอยู่ในหน้า 62 ของ Sol3 เป็นการอ้างอิงโดยไม่มีคำอธิบาย แต่อยู่ภายใต้หัวข้อใหญ่ว่า พระสัญญาของพระเจ้า และหัวข้อย่อยว่า ความเจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน แต่เมื่อเราอ่านพระคัมภีร์ข้อนี้จริงๆ ก็ไม่ใช่เป็นคำสัญญา แต่เป็นคำอธิษฐาน โดยมีความต่อเนื่องกับการเจริญเติบโตฝ่ายจิตวิญญาณ ซึ่งการอ้างพระคัมภีร์ข้อนี้มาแบบลอยๆ ก็จะทำให้มีความโน้มเอียงไปทางข่าวประเสริฐแห่งความเจริญรุ่งเรือง (ดูบทความคำสอนเทียมเท็จ “ข่าวประเสริฐแห่งความเจริญรุ่งเรือง” (Prosperity Gospel) โดยกรรมการศาสนศาสตร์กปท)

ประเด็นที่ 5 คือ Word of Faith หรือ ถ้อยคำแห่งความเชื่อ

ในคู่มือที่ทาง G12 ใช้สอนนี้ได้เน้นเรื่องการใช้คำพูดว่ามีผลต่อโลกฝ่ายวิญญาณ ในบทที่ 6 ของPost Encounter ได้ให้ความสำคัญของคำพูด ได้มีหัวข้อว่า เราถูกสร้างมาเพื่อเป็นพร ได้มีคำอธิบายเกี่ยวกับอิทธิพลของคำพูดต่อชีวิตของเราดังนี้ การพูดถ้อยคำของพระเจ้าทำให้โลกฝ่ายวิญญาณมีการทำงานเกิดขึ้น ถ้าเป็นถ้อยคำแห่งความเชื่อและถ้อยคำแห่งพระพร อาณาจักรของทูตสวรรค์ทั้งหมดจะเริ่มทำงานโดยตรงจากพระเจ้า แต่เมื่อมีการกล่าวถ้อยคำในแง่ลบ ถ้อยคำแห่งความขมขื่นและคำสาปแช่ง อาณาจักรแห่งความมืดก็จะเข้ามาทำงานผ่านทางถ้อยคำนั้น”  (หน้า 61) และได้กล่าวต่อไปอีกว่า “ถ้าครอบครัวของเรากำลังอยู่ในช่วงวิกฤต ให้เราเริ่มมองออกไปด้วย สายตาแห่งความเชื่อถึงการเปลี่ยนแปลง และเราต้องเชื่อมั่นอยู่ในใจและพูดออกมาด้วยคำพูดของเราว่า เรามีครอบครัวที่ดีที่สุดในโลกแล้ว”  (หน้า 62) นอกจากนี้ก็ได้มีหัวข้อย่อยที่ว่า พระเจ้าต้องการจะอวยพรเรา ได้อธิบายว่า โดยทั่วไปแล้ว สิ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านทางคำพูดนั้น มีพลังที่จะดึงดูดสิ่งดี หรือ ไม่ก็สิ่งชั่วร้ายเข้ามาใกล้เราได้ การอวยพรแต่ละอย่างที่ได้พูดออกไปยังบางคน จะต้องเป็นถ้อยคำอันเป็นความปรารถนาที่อยากให้ความโปรดปรานของพระเจ้าอยู่เหนือคนๆนั้น” (หน้า 65)

คำสอนเกี่ยวกับถ้อยคำแห่งความเชื่อได้ถูกประณามโดยคริสเตียนในมุมกว้างรวมไปถึงพี่น้องในกลุ่ม Pentecost และ Charismatic มามากกว่า 30 ปีว่า คำสอนนี้เป็นคำสอนเท็จและเป็นความเชื่อที่อันตราย

ผู้นำและนักวิชาการในสาย Pentecost และ Charismatic ที่ต่อต้านคำสอนถ้อยคำแห่งความเชื่อ

Watchman Fellowship, "Word-Faith Theology", บทความนี้กล่าวถึงผู้นำและนักวิชาการในสาย Pentecost และ Charismatic ที่ต่อต้านคำสอนถ้อยคำแห่งความเชื่อ ในจำนวนนี้รวมไปถึง Chuck Smith (ศิษยาภิบาลของคริสตจักร Calvary Chapel), R.L. Whitworth (ศิษยาภิบาลของคริสตจักร Calvary Assembly ซึ่งเป็นคริสตจักรที่ใหญมากแห่งหนึ่งของคณะ Assemblies of God), Dr. George Wood (อดิตผู้ช่วยผู้อำนวยการคณะ Assemblies of God), Charles Farah, Jr. และ D.R. McConnell (อาจารย์มหาวิทยาลัย Oral Roberts), H. Terris Newman (อาจารย์วิทยาลัย Southeastern ของคณะ Assemblies of God), Gordon Fee (Gordon-Conwell), Hank Hanegraaff (Christian Research Institute), Eric Pement (Cornerstone Ministries), Steve Cannon (Personal Freedom Outreach), etc.คณะ Assemblies of God เองได้ออกแถลงการต่อต้านความเชื่อนี้ในปี 1980 และยืนยันว่า ความสุดโต่งของคำสอนถ้อยคำแห่งความเชื่อสวนทางกับพระวจนะของพระเจ้า

ประเด็นอื่นที่ไม่ได้อยู่ในรายงานนี้ได้แก่เรื่อง Inner Healing และยังมีข้อมูลอื่นที่อาจจะมีการสอนที่เราไม่ได้ศึกษา

ข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการ

จากการที่คณะกรรมการได้ร่วมกันศึกษามาแล้วนี้ จึงเห็นว่าทางกปทและกปผไม่ควรรับรองหลักสูตรนี้ว่าเป็นหลักสูตรของส่วนกลาง

กปทและกปพควรชี้แจงให้คริสตจักรทั่วไปได้ทราบว่า G12 ไม่ได้เป็นหลักสูตรกลาง เนื่องจากมีคริสตจักรจำนวนมากเข้าใจผิดว่า G12 เป็นหลักสูตรจากส่วนกลาง

Submit to FacebookSubmit to TwitterSubmit to LinkedIn